โถ ! ตัวเลขงบฯวิจัยแค่ 0.2% ติดกลุ่มต่ำสุดในโลก
วันที่ 9 มีนาคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแสดงปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 12 ในหัวข้อเรื่อง "วิทยาศาสตร์เพื่ออะไร" โดยศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ห้องกิจกรรม ชั้น 2 หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวตอนหนึ่งถึงความ อ่อนด้อยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทย ว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา น้อยมากประมาณ 0.2% ของ GDP สัดส่วนนี้ติดอยู่อย่างนี้มา 20- 30 ปีแล้ว ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก มีนักวิจัย 600 คน ต่อประชากร 1 ล้านคนในการทำการวิจัยและพัฒนา ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนของการวิจัย และพัฒนาประมาณ 2-3 % ของ GDP และมีนักวิจัยมาทำงานประมาณ 5,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน
แม้รัฐบาลปัจจุบันจะมีนโยบาย และในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 พยายามมุ่งว่า ปี 2015 จะมีนักวิจัยประมาณ 15 คน ต่อประชากร 1 หมื่นคน หรือ มีนักวิจัย 1,500 คนต่อประชากร 1 ล้านคน และงบฯ วิจัยและพัฒนา 1 % ของ GDP และยังระบุด้วยว่า เป็นของภาคเอกชนประมาณ 70 % ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ก็ยังต้องไปอีกไกลมากเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในโลกนี้ ดังนั้น เราต้องการนโยบายที่ชัดเจน โดยต้องการความมุ่งมั่นและกรอบคิด (mindset) ของทั้งประเทศ
“นายกรัฐมนตรีพูดหลายครั้ง ต้องมีงบฯ วิจัยและพัฒนา 1 % ของ GDP ถึงกระนั้นก็ถือว่า เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการจัดงบประมาณ ปีนี้งบฯ ก็อยู่ประมาณ 0.2% ของ GDP ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีหลักฐานว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเชิงปฏิบัติ ซึ่งจะต้องพยายามให้นโยบายนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ภาคเอกชนทำอย่างไรให้เห็นความสำคัญ เพิ่มการดำเนินการด้านการวิจัยและพัฒนาให้มากกว่านี้” อดีตรมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว และว่า ปัจจุบันภาคเอกชนยังไม่มีความเชื่อนักว่า การวิจัยพัฒนาจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันได้
สำหรับนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยี ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ส่วน ใหญ่ท้อถอยเมื่อทำไปงานไปได้สักพัก ด้วยเพราะการสนับสนุนน้อย มีทุนวิจัยน้อย ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักเคมี ง่ายที่สุด คือ การไปกวดวิชา ได้เงินหลายสิบล้านบาท เราจะเห็นโรงเรียนกวดวิชามากมาย ที่ชัดเจนและแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวระบบการศึกษาของไทย ขณะที่นักวิทยาศาสตร์อื่นๆ ก็เปลี่ยนหันไปเป็นผู้บริหาร ทำให้เหลือน้อยคนทำงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอย่างจริงจัง ดังนั้น ตรงนี้ต้องการการเปลี่ยนกรอบคิดของตัวนักวิทยาศาสตร์เอง และของมหาวิทยาลัย รัฐบาล ในการเกื้อหนุนให้คนยังอยู่ในอาชีพนี้ได้
จากนั้น ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ จากสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงจิตวิญญาณของวิทยาศาสตร์ (Scientific Attitude) ว่า สังคมไทยขาดมาก คือ Scientific Attitude โดยเฉพาะขาดกาลามสูตร ทั้งๆที่มาจากหลักพุทธศาสนา ซึ่งน่าจะเข้ากับกรอบแนวคิดของคนไทยได้ง่ายมาก หากจะให้สังคมไทยมี Scientific Attitude ต้องยึดหลัก กาลามสูตร เป็นคัมภีร์
“เวลาเราเถียงกัน เรื่องนิวเคลียร์ก็ดี หรือจีเอ็มโอก็ดี เราเถียงเพราะเชื่ออาจารย์ หรือเชื่อ เอ็นจีโอ จบแค่นั้น ซึ่งเราต้องไม่เชื่อทั้ง 2 ฝ่าย ต้องมี Scientific Attitude”ดร.อัมมาร กล่าวและว่า ปัญหาของประเทศไทยครูมองหน้าที่ของตนเอง คือ การทำให้เด็ก เชื่อครูก่อน ระบบการศึกษาแย่มากที่สุด ถูกสอนมาให้เชื่อครู คิดว่าเป็นปัญหาประเทศไทยที่เราไม่ชวนให้เด็กตั้งคำถาม ดังนั้นต้องหาทางให้เกิดจิตวิญญาณวิทยาศาสตร์ในเด็กไทย ฝังเข้าไปในเด็กไทย สังคมไทย ใช้วิทยาศาสตร์ในการทำงาน คิด แทนการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน
ดร.อัมมาร กล่าวด้วยว่า เวลารัฐบาลจะตัดสินใจ เรื่องอะไร ต้องมีธรรมาภิบาล และชั่งน้ำหนักอย่างมีระบบจากหลายๆ ฝ่าย และมีสารขั้นสุดท้ายว่าจะทำหรือไม่ทำ
( เรื่อง ณัฏฐพัชร์ ทัศนรุ่งเรือง ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฎิรูปประเทศไทย สถาบันอิศรา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา