เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

ควันหลง .... ไข่ชั่งกิโล

การแก้ปัญหาแบบนักการเมือง

โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ
ที่มา : ประชาไท
นโยบายขายไข่ชั่งกิโล ภายใต้โครงการประชาภิวัฒน์ของรัฐบาล ฯพณฯ (ทั่น) อภิสิทธิ์ ต้องพับฐานไปค่อนข้างแน่แล้วนั้น เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นว่า การตีโจทย์ไม่ทะลุอาจนำมาซึ่งอาการ “หน้าแตก” ชนิดที่ “หมอไม่รับเย็บ” ได้ง่ายๆ เลยทีเดียว

สาเหตุของความล้มเหลวมาจาก การพยายามที่จะทำให้ราคาไข่ไก่ลดลง โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค ปรัชญาของนโยบายนี้ก็คือ ถ้าตัดขั้นตอน “การคัดไข่” ออกไป ไข่ไก่ก็จะมีราคาถูกลงฟองละ 10 ถึง 20 สตางค์ทันที ดังนั้นแม่ค้าไข่ไก่ตามตลาดสดหรือตลาดนัด จึงต้องเปลี่ยนวิธีขายไข่มาเป็นแบบชั่งกิโล โดยรัฐบาลกำหนดราคาให้เสร็จสรรพที่กิโลกรัมละ 50 – 52 บาท

แต่ถ้านำเอาหลักเกณฑ์ทางการตลาด (Marketing Principle) มาจับ ไม่ว่าจะมองใน Segment ใด ก็ล้วนไม่สอดรับกับทฤษฎีไข่ชั่งกิโลนี้ด้วยกันทั้งนั้น กล่าวคือ ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่ม “ครัวเรือน” มักจะเน้นที่ความสะดวกสบาย (Convenience) หากต้องการน้อยก็จะซื้อน้อยฟอง มีไข่ไก่ให้เลือก (ซื้อ) หลากหลายบรรจุภัณฑ์และหลากหลายราคา ตามคุณภาพที่ตนเองพึงพอใจ ขณะที่กลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือโรงแรมจะต้องการไข่ที่มีขนาดมาตรฐาน เช่น เมนูไข่ดาวอาหารเช้า ควรต้องมีขนาดฟองเท่าๆ กัน เป็นต้น อันหมายถึงต้องผ่านการคัดแยกเบอร์มาแล้วนั่นเอง

เมื่อเป็นดังนี้ เขาจะซื้อไข่ “ชั่งกิโล” ไปเพื่อ Benefits อะไร ?

ความจริงมีอยู่ว่าไข่ไก่ไม่ว่าที่ใดในโลกก็ล้วนมีการคัดขนาดกันแทบทั้งสิ้น ในประเทศไทยแบ่งไข่ไก่ออกเป็น 7 ขนาด โดยเบอร์ 0 จะฟองใหญ่สุด เบอร์ 1 ขนาดเล็กลงมา และไข่ไก่เบอร์ 6 จะมีขนาดเล็กสุด อย่างไรก็ตามในท้องตลาดนิยมขายไข่ไก่แค่เบอร์ 5 เท่านั้น ขณะที่ในอีกหลายประเทศอาจมีการแบ่งขนาดไข่ไก่แตกต่างกันไป แต่ก็มักอยู่ที่ประมาณ 4 – 5 ขนาด วิธีการแบ่งทำโดยชั่งน้ำหนักบนเครื่องคัดไข่ (ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ประเทศไทย)

นโยบายไข่ชั่งกิโลจึงมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากรัฐบาลต้องการที่จะรักษาภาพของตนเองเอาไว้ ด้วยว่าราคาไข่ไก่ได้ถูกนำไปเป็นดัชนีชี้วัดสภาวะค่าครองชีพของชาวบ้านไปเสียแล้ว เป็นการแก้ปัญหาในมุมมองของนักการเมืองที่คำนึงถึง “คะแนนนิยม” มากกว่า “ต้นตอ” ของปัญหานั้น

หากมองในแง่การจัดการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Management) นโยบายนี้นับว่าเดินสวนทางกับแนวคิด “การเพิ่มมูลค่า – High Value Adding” ชนิด 180 องศาเลยทีเดียว ด้วยว่านักบริหารร่วมสมัยล้วนมุ่งให้องค์กรที่ตนดูแลมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยกันทั้งนั้น (โดยผ่านตัวชี้วัดที่เรียกว่า EVA Economic Value Added /EVA – ผู้เขียน)

กรณีไข่ไก่นี้รัฐบาลจึงต้องมองให้ออกว่านี่คือ “ผลิตภัณฑ์อาหาร – Food Product” ไม่ใช่ “สินค้าคอมมอดิตี้” ที่ได้มาอย่างไรก็ขายไปอย่างนั้น

ไข่ไก่ในฟาร์มยุคใหม่ต้องผ่านการทำความสะอาดด้วยเครื่องอัตโนมัติ มีการคัดแยกไข่ไก่ที่บุบแตก หรือมีคุณภาพเปลือกไม่ดี (สีซีด ผิวขรุขระ) ก่อนที่จะทำการคัดแยกขนาด และใส่ในบรรจุ-ภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการขนส่งและสะดวกในการซื้อหา มีการพ่นข้อมูล (Inkjet) ลงไปบนฟองไข่ ระบุวันหมดอายุ ตลอดจนที่มาของไข่ไก่อันสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้

ผู้ประกอบการต้องทำกันถึงขนาดนี้ จึงจะได้ “มูลค่าเพิ่ม”
ต้องทำให้ได้ถึงเพียงนี้ จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ “มีฝีมือ”
อันเป็นคนละเรื่องกับ การนำเอาไข่มา “คละ” แล้ว “ชั่งกิโลขาย” โดยสิ้นเชิง !

ดังนั้น ... การออกนโยบายไข่ชั่งกิโลของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ นอกจากจะไม่ได้รับการตอบรับจากสังคมภาคส่วนต่างๆ แล้ว ยังได้มองข้าม “ยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่า” ในผลิตผลทางการเกษตร อันเป็นวาระระดับชาติของพี่น้องชาวไทยอีกโสดหนึ่งด้วย

เรื่อง Grading หรือการจัดชั้นมาตรฐานผลิตผลเกษตรนั้น นักวิชาการเกษตรของไทยได้ทดลองวิจัยกันมาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านพืชและสัตว์ จนมีพัฒนาการก้าวหน้าไปเป็นอันมาก ยังผลให้ผลิตผลเกษตรของไทยเราเป็นที่ยอมรับไปทั่วทั้งโลก

• มะม่วง เบอร์ 14 คือ 1 กล่อง ต้องมี 14 ผล ซึ่งต้องได้มาตรฐานทั้งน้ำหนักและขนาดของผล เป็นการล็อค 2 ชั้น เลยทีเดียว
• กล้วยไม้ 60 เซ็นติเมตร มีดอก 12 ดอก ต้องบานหมด ถ้าผิดจากนี้ถือว่าตกสเปค
• สตรอเบอรี่ หากจัดการให้แต่ละลูกมีขนาดเท่าๆ กันได้ ก็จะมีมูลค่าเพิ่ม ขายได้ราคาแพง
• กุ้งขาววานาเมย์ และ กุ้งกุลาดำ ต่างขนาด ราคาก็จะแตกต่างกัน (กุ้งขนาด 30 ตัว/กก. ราคากิโลกรัมละ 230 บาท ขณะที่ขนาด 100 ตัว/กก. ราคากิโลกรัมละ 122 บาท - ราคา ณ. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ตลาดทะเลไทย จ. สมุทรสาคร)
• มังคุดคัดขนาด ลอง search ในกูเกิ้ลดูก็จะพบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้เป็น list ยาวเหยียด
ฯลฯ

สำหรับเรื่องไข่ไก่นี้ รัฐบาลควรถือเป็นบทเรียน (Lesson Learned) ราคาแพง และโปรดอย่าได้คิดเอาของที่เขาทำมาดีแล้ว ดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นไปชั่งกิโลขายอีกเป็นอันขาด !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา