เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

ธรรมาภิบาลกับการอภิบาลประชาชน

โดย ธัชชัย แก้ววารี


ความเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบันเป็นไปอย่างฉาบฉวย หลากหลายและรวดเร็ว ทำให้ผู้คนในทุกมุมโลก ต้องปรับตัวเปลี่ยนวิธีคิดและสร้างสมดุลต่อการดำรงชีวิตให้ทันกับเหตุการณ์ ที่ก้าวไปด้วยความเร่งสูง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อการแสวงหาความสุข การมีชีวิตที่ดีขึ้น ดีกว่าหรือสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่ขับเคลื่อนไปตามอัตภาพ อัตกำลังของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม แต่ละรัฐ หรือแม้กระทั่งแต่ละประเทศก็ตามที

การอภิบาล การบริบาลช่วยเหลือและการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ ส่วนราชการของแต่ละประเทศ จึงต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถเพื่อผลักดันให้หน่วยงานและบุคลากรของตนได้ปก ป้องดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนภายใต้การปกครองให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและเกิดประโยชน์สูงสุดเหมาะสมกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงและการแย่ง ชิงทรัพยากรกันของมวลมนุษยชาติในโลกโลกาภิวัตน์ยุคสมัยนี้

รัฐไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการนำเอาศาสตร์การบริหารจัดการในโลกสมัย ใหม่มาใช้เป็นเครื่องมือในการอภิบาลสังคมเพื่อตอบสนองต่อการให้บริการและ ความต้องการของประชาชนในประเทศ ระยะต้นมีเครื่องมือหลายๆ ตัวที่ได้นำมาใช้และสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีมีความสอดคล้องกันพอสมควร อีกทั้งมีการบูรณาการหลักการแห่งศาสตร์และวิธีการทางศิลป์เข้าด้วยกันอย่าง ลงตัว เพิ่มระดับความสามารถต่อการอภิบาล และบริบาลประชาชน ตลอดจนการควบคุมการดำเนินงานของภาครัฐที่มีให้กับอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย ได้อย่างน่าชื่นชม

หนึ่งในเครื่องมือที่ถือว่าธรรมดาที่สุด แต่ถ้าใช้อย่างเป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จก็จะเป็นเครื่องมือที่มี ประสิทธิภาพและทรงคุณค่าที่สุด นั่นคือ “หลักธรรมาภิบาล” (Good Governance) ที่เป็นแนวความคิดในการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี มีหลักการเพื่อสนับสนุนการอยู่ร่วมกันในบ้านเมืองและสังคมอย่างมีความสงบ สุข สามารถประสานประโยชน์ คลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี และนำสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ระบุว่าธรรมาภิบาลมี 6 ประกอบ คือ

1.หลักนิติธรรม (The Rule of Law) ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่เลือกปฏิบัติและสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมายและกฎข้อบังคับเหล่า นั้น โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอำเภอใจหรือตามอำนาจของตัวบุคคล

2.หลักความโปร่งใส (Accountability) ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกัน โดยมีการให้และการรับข้อมูลที่สะดวกเป็นจริง ทันการณ์ ตรงไปตรงมา มีที่มาที่ไปที่ชัดเจนและเท่าเทียมมีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้

3.หลักการมีส่วนร่วม (Participation) ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และร่วมคิด ร่วมเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศในด้านต่างๆ เช่น การแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการร่วมตรวจสอบ และร่วมรับผิดชอบต่อผลของการกระทำนั้น

4.หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ (Responsibility) ได้แก่ ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้เป็นการสร้างกลไกให้มีผู้รับผิดชอบ ตระหนักในหน้าที่ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาตลอดจนการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างและความ กล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทำของตน

5.หลักความคุ้มค่า (Cost – effectiveness or Economy) ได้แก่ การบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดความคุ้มค่าเพื่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม

6.หลักคุณธรรม (Morality) ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงามสำนึกในหน้าที่ของตนเอง มีความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัยและเคารพในสิทธิของผู้อื่น

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของการนำศาสตร์ธรรมาภิบาลมาใช้โดยการถ่ายทอดผ่านทางวิธี การปฏิบัติงานในระบบราชการ กระทำด้วยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการ บ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มาตรา 6 การบริหารราชการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน มาตรา 7-8 การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มาตรา 9-19 การบริหารราชการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ มาตรา 20-26 การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน มาตรา 27-32 การปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการ มาตรา 33-36 การอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชน มาตรา 37-44 และการประเมินผลการปฏิบัติราชการ มาตรา 45-49

การดำเนินการเริ่มตั้งแต่ให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างได้รับการอบรมเรียนรู้ ถ่ายทอดกันเป็นระดับ จากนั้นเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิธีการ การทำงาน การให้บริการ ตลอดจนการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ระเบียบกติกาและขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ที่จะช่วยสร้างความกระชับและให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น บุคลากรของรัฐถูกบังคับให้ท่อง ให้จดให้จำ หวังเพื่อว่าจะสามารถแทรกซึมลึกลงไปในจิตสำนึกของการปฏิบัติหน้าที่ที่ดี มุ่งรับใช้ประชาให้สมกับเจตนารมณ์แห่งศาสตร์ที่ว่านั้น ซึ่งทั้งหมดล้วนอุดมไปด้วยเทคนิคและวิธีการที่หลากหลาย

แต่ด้วยความเป็นจริงที่มิอาจก้าวข้ามไปได้ก็คือ ความเป็นรูปธรรมของการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในประเทศไทย เท่าที่เห็นต้องยอมรับว่ายังไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งการนี้จะโทษข้าราชการผู้ปฏิบัติงานก็ย่อมได้อยู่ แต่ต้องหลังจากที่กล่าวโทษผู้บริหารประเทศ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางในการอภิบาลประชาชนไปแล้วเท่านั้น ข้าราชการประจำจะปฏิบัติหน้าที่ได้ดีเยี่ยมตามหลักธรรมาภิบาลได้ก็ต่อเมื่อ ได้รับการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เอื้อต่อการปฏิบัติ การได้รับการช่วยเหลือและการอำนวยการที่ดีจากผู้กุมอำนาจอภิบาล เมื่อหัวไม่กระดิกแล้วหางจะสะบัดได้อย่างไรกัน เปรียบได้กับระบบเชิงกล ซึ่งถ้าสมองกลไม่สั่งไม่บังคับ ระบบอื่นก็ไม่ทำงาน..ตายทั้งระบบ

หากเราสังเกตจะเห็นได้ว่าการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศ การกำกับดูแลและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กระทำรัฐอภิบาลนั่นแหละที่เป็นตัว การกีดกันการใช้ธรรมาภิบาลที่ดีของข้าราชการผู้ปฏิบัติ ให้ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างที่ พรรณนาไว้ในตัวบทกฎหมาย เป็นเหตุให้ธรรมาภิบาลทุกวันนี้ต้องติดอยู่กับหลัก เป็น "หลัก" ธรรมาภิบาลที่ไม่ยอมขับเคลื่อนเปลี่ยนย้ายไปสู่การบริการที่ดีแก่ประชาชนได้ อย่างแท้จริง

ผมใคร่นำสิ่งที่ตัวเองได้ประสบพบเจอมาเป็นตัวอย่างสักสองสามกรณี..กล่าวคือ

กรณีเรื่องการทำบัตรประจำตัวประชาชน จากเดิมที่ใช้กระบวนการดำเนินงานอย่างยาวนาน ประชาชนผู้รับบริการต้องใช้ใบเหลืองซึ่งเป็นใบแทนไปก่อนจึงจะได้รับบัตร ประชาชนตัวจริง สมัยผมทำบัตรประชาชนครั้งแรกจำได้ว่าต้องใช้เวลาประมาณ 45 วัน ผู้ใหญ่บ้านจึงจะรับจากอำเภอแล้วนำมาให้ที่บ้าน แต่ด้วยธรรมาภิบาลทำให้มีการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออก ขั้นตอนวิธีการใดที่ซ้ำซ้อนกันก็ให้รวมกัน สามารถเปลี่ยนกระบวนการทำบัตรประจำตัวประชาชนให้รวดเร็วขึ้น เสร็จภายในหนึ่งวันโดยไม่ต้องรอ ไม่ต้องใช้ใบแทน

แต่ ณ วันนี้ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลหรือรัฐอภิบาลในสมัยโลกาภิวัตน์ของ ประเทศเรา กลับเป็นการดำเนินการที่ไม่ได้สอดคล้องหรือใกล้เคียงกับธรรมาภิบาลดังที่ กำหนดไว้เลย กลายเป็นการเพิ่มระยะเวลาในกระบวนการทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ยาวนาน ขึ้น..เกือบ 5 เดือน (ผมไปทำเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา..ระบุให้ผมไปรับบัตรตัวจริงในเดือน พฤษภาคม)

ประชาชนเสียหายตรงไหน?..เสียเวลาและโอกาสในการทำมาหากิน และเสียค่าใช้จ่าย ที่เดินทางมาทำแล้วต้องมารับอีกครั้ง ซึ่งถ้ามาแล้วไม่ได้ก็ต้องมาครั้งต่อๆ ไป โดยไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากใครได้ ต้องจ่ายเอง

เรื่องต่อมา คือ การเข้าแถวเพื่อรอซื้อสินค้าราคาแพง หายากและขาดตลาดอย่างน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช ไข่และอื่นๆ

เป็นไปได้อย่างไร น้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช และไข่ไก่ ราคาสูง ขาดตลาด ทั้งๆ ที่เป็นปัจจัยภายในประเทศ เราเป็นประเทศผู้ผลิต เป็นประเทศเกษตรกรรม และแถมยังเป็นผู้ส่งสินค้าเหล่านี้ออกด้วยซ้ำ

ประชาชนเสียหายตรงไหน?..เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ยังเท่าเดิม และที่สำคัญไม่แพ้กันคือเสียความรู้สึก..เสียสุขภาพจิตกันไปทั่วถ้วนหน้า

เรื่องสุดท้าย เรื่องการดำเนินคดี การเร่งรัด การละเว้นการปฏิบัติ จะด้วยเหตุผลกลไดก็ตาม มันก็เกิดคำถามทั้งเรื่องของนิติธรรม คุณธรรมจนได้ รัฐกระทำเหมาะสม สมควร เป็นเหตุเป็นผลแล้วหรือยัง?..

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดคำถามแก่ประชาชนไปทั่ว และมีกรณีตัวอย่างให้เห็นอยู่ร่ำไป ถามว่าถ้าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของประชาชนเอง ทำไมรัฐไม่สร้างความกระจ่างแก่ประชาชน ใช้หลักความโปร่งใสในการบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เรื่องบานปลายจนมีคำพูดติดหู ติดใจประชาชนไปค่อนประเทศ กับคำว่า “สองมาตรฐาน”

ประชาชนเสียหายตรงไหน?..สร้างความแตกแยกให้เกิดกับประชาชน ประชาชนบางกลุ่มบางก้อนใช้เป็นข้ออ้างว่าถูกเลือกปฏิบัติ และนำมาซึ่งความสับสนวุ่นวาย นำมาซึ่งการไม่ยอมรับระเบียบกติกาและกฎเกณฑ์ของสังคม..ใครเดือดร้อน?..ก็ชาว บ้าน ประชาชน สังคมส่วนใหญ่อีกนั่นแหละ

นอกจากนี้ เข้าใจว่ายังมีเรื่องอื่นให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอีกไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าตราบที่ผู้อภิบาลของรัฐยังไม่ตระหนักและไม่มีการบังคับใช้ธรรมาภิบาลกัน อย่างจริงจัง กรณีเทียบเคียงถ้าเป็นบริษัทเอกชน ผู้บริหารคงโดนเจ้าของ ผู้ถือหุ้นไล่ออก ยื่นซองขาว หรือไม่ก็กดดันให้เขียนใบลาออกไปตั้งนานแล้ว และไม่มีโอกาสได้แก้ตัวซ้ำซาก ไม่มีสิทธิใช้โวหารแก้ต่างให้ตัวเองเป็นแน่แท้ ซึ่งเท่านั้นยังไม่พอ ใบลาออก ใบผ่านงาน หรือแม้กระทั่งหลักฐานเกี่ยวกับที่เคยทำงานใดๆ ยังจะต้องถูกบันทึก สลักหลัง เพื่อป้องกันมิให้บุคคลนี้ไปสร้างความเสียหายให้กับบริษัทอื่นใดได้อีก

แต่ก็นั่นแหละ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่านักอภิบาล นักบริหารจัดการของรัฐ ระดับประเทศ เมื่อออกไปแล้ว ก็ยังจะสามารถกลับเข้ามาได้อีก มาทำเรื่องอย่างเดิมเหมือนเดิมได้อีก ทั้งนี้เพราะ “ธรรมาภิบาล” คงไม่ใช่ตัวสะท้อนผลงานและไม่ได้เป็นตัวชี้วัดในสารบบหน่วยความจำของประชาชน คนไทยผู้ซึ่งเป็นหุ้นส่วนและเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง

เอกสารอ้างอิง
1. การสร้างธรรมาภิบาล (Good governance). URL-online : http://www.kmitnbxmie8.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5360081&Ntype=3
2. สรุปสาระสำคัญพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546. URL-online : http://actboard.129jump.com/viewthread.php?tid=2033
3. ปัญหาน้ำมันปาล์ม-น้ำมันพืช ยิ่งแก้ยิ่งวุ่น พณ.กระทุ้งเกษตรฯ แจงผลผลิต. ASTVผู้จัดการออนไลน์. 25 มกราคม 2554
4. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
5. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 URL-online : http://www.kodmhai.com/m4/m4-15/n50/m1-19.html
6. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542
7. สังคม“สองมาตรฐาน”แบบลำเอียง. URL-online : http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=9317

ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา