เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

"จับประเด็นการเมืองภาคประชาชน"

โดย เกษียร เตชะพีระ

ในร่างรายงานการวิจัยเรื่อง "บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย" (2547) อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้จับประเด็นหลักทางแนวคิดทฤษฎี ประวัติความเป็นมา และบทบาทความสำคัญเชิงปฏิบัติของ การเมืองภาคประชาชน ในฐานะแม่กุญแจที่อาจมีศักยภาพจะช่วยไขปัญหาหลักทั้ง 3 ของการเมืองไทยปัจจุบัน อันได้แก่ 1) ปัญหาประชาธิปไตยที่ไร้อธิปไตย 2) ปัญหาหนึ่งรัฐสองสังคม และ 3) ปัญหาการใช้อำนาจรัฐโดยขาดฉันทานุมัติจากประชาชน ไว้ดังนี้

คำนิยามอย่างแคบ : - การเมืองภาคประชาชนหมายถึงการเคลื่อนไหวอย่างมีจิตสำนึกทางการเมืองของกลุ่มประชาชน เพื่อลดฐานะครอบงำของรัฐ รวมทั้งเพื่อโอนอำนาจบางส่วนมาให้ประชาชนใช้ดูแลชีวิตตนเองโดยตรง

คำนิยามอย่างกว้าง : - การเมืองภาคประชาชนคือปฏิกิริยาโต้ตอบการใช้อำนาจของรัฐและเป็นกิจกรรมถ่วงดุลอิทธิพลการครอบงำของระบบตลาดเสรีในภาคประชาชน

แก่นสารของการเมืองภาคประชาชน : - กระบวนการใช้อำนาจโดยตรงโดยประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้ง และไม่น้อยไปกว่าการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายตลอดจนตัดสินใจเรื่องที่ส่งผลกระทบถึงตน

สถานะของการเมืองภาคประชาชน : - การเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวในประชาสังคม โดยทาบเทียบกับส่วนที่เป็นรัฐ ขณะที่ประชาสังคมรวมทุกส่วนที่ไม่ใช่ภาครัฐไว้ด้วยกัน จึงมีทั้งสถาบันของประชาชนธรรมดา พ่อค้านายทุน และกลไกตลาด สามารถแสดงเป็นสัญลักษณ์ได้ว่า ---> [ประชาสัมคม(การเมืองภาคประชาชน)] / รัฐ

จุดหมายของการพัฒนาการเมือง : - คือลดระดับการปกครองโดยรัฐลง(less government) และให้สังคมดูแลตนเองมากขึ้น โดยในสถานการณ์หนึ่งๆ จะมุ่งแสวงหาความสมดุลลงตัวในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม บนพื้นฐานระดับการแทรกตัวของรัฐเข้าไปในสังคมดังที่เป็นอยู่ และขีดความสามารถของประชาชนในการจัดการดูแลแก้ปัญหาของตนเองที่เป็นจริง

เนื้อแท้ของการเมืองภาคประชาชน : - ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อจำกัดขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐ, ถ่วงดุลอำนาจรัฐด้วยประชาสัมคมโดยไม่ยึดอำนาจ

พร้อมกันนั้นก็ถ่วงดุลอำนาจของพลังตลาดหรือทุนซึ่งสังกัดประชาสังคมไปด้วย, โดยช่วงชิงกับฝ่ายทุนเพื่อลดทอนและกำกับบทบาทของรัฐ, แย่งกันโอนอำนาจบางส่วนที่เคยเป็นของรัฐมาเป็นของประชาชน(แทนที่จะตกเป็นของฝ่ายทุน) เพื่อใช้มันโดยตรงและไม่ต้องผ่านรัฐดังก่อน, ผลักดันให้รัฐใช้อำนาจที่เหลือสนองเจตนารมณ์ประชาชน(แทนที่จะสนองผลประโยชน์ของฝ่ายทุน)

ดำเนินการต่อสู้ด้วยวิธีขยายสิทธิประชาธิปไตยออกไป และย้ายจุดเน้นจากการเมืองแบบเลือกตั้งผู้แทนมาเป็นการเมืองแบบมีส่วนร่วม(ขณะที่ฝ่ายทุนใช้ตลาดเสรีเป็นฐานที่มั่นสำคัญ)

พลังพลวัตใหม่ของการเมืองภาคประชาชน : - ได้แก่ กลุ่มธุรกิจรายย่อมและคนชั้นกลางทั่วไปในสังคมเมือง ซึ่งแตกต่าง ไม่วางใจ และอาจคัดค้านหรือปฏิเสธการตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่บนเวทีการเมือง, กับกลุ่มปัญญาชนสาธารณะ สื่อมวลชนอิสระ และกลุ่มประชาชนผู้เสียเปรียบ

ความเป็นมาของการเมืองภาคประชาชน : - เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นหลักหมายสำคัญ, ช่วงหลังจากนั้น องค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) เป็นห่วงเชื่อมต่อสำคัญระหว่างขบวนการปฏิวัติแบบเก่า ---> ไปสู่การเมืองภาคประชาชนแบบใหม่

บุคลิกลักษณะของการเมืองภาคประชาชน : - เป็นขบวนการประชาธิปไตยที่ค่อนข้างราดิคัล (Radical Democratic Movements) ของกลุ่มย่อยที่ค่อนข้างกระจัดกระจายเป็นไปเอง โดยปราศจากศูนย์บัญชาการ มุ่งใช้สิทธิทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมาแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องเฉพาะจุด ไม่มีกรอบอุดมการณ์ตายตัว ไม่ต้องการยึดอำนาจรัฐด้วยการโค่นอำนาจรัฐเก่าแล้วจัดตั้งอำนาจรัฐใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงจัดระเบียบโครงสร้างสังคมใหม่หมดตามแนวคิดแบบใดแบบหนึ่ง ถือกระบวนทัศน์เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง(people-orienten)

ดังนั้น จึงต่างจากขบวนปฏิวัติสมัยก่อนที่เอารัฐเป็นตัวตั้ง(state-orienten) และมุ่งยึดอำนาจรัฐมาคัดแปลงสังคมให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ยึดมั่น

ฉะนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในการเมืองภาคประชาชน จึงมีประเด็นเรียกร้องต่อสู้ที่หลากหลายมาก แนวทางการเคลื่อนไหวก็ไม่เห็นพ้องต้องกันเสียทีเดียว จุดร่วมที่มีอยู่คือ ประเด็นปัญหาเหล่านั้นล้วนเกิดจากระบอบอำนาจรัฐรวมศูนย์ส่วนกลางและความจำกัดจำเขี่ย ไม่พอเพียงของประชาธิปไตยแบบตัวแทนในเวทีรัฐสภา มากกว่าความเป็นเอกภาพของการเมืองภาคประชาชนเอง ดังที่เรียกกันว่า one no, many yeses

ทิศทางและแม่แบบการเคลื่อนไหว : - การเมืองภาคประชาชนมีทิศทางการเคลื่อนไหวใหญ่ๆ 4 แบบคือ :

1) ร้องทุกข์ เรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาที่ไม่ได้รับการเหลียวแล เช่น กรณีแม่ใหญ่ไฮ ขันจันทา ร่วมกับสมัชชาคนจนและเอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ ประท้วงเขื่อนห้วยละห้าท่วมที่นาทำกินนาน 27 ปี

2) มุ่งตรวจสอบกระบวนการใช้อำนาจรัฐ เช่น กรณีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนตรวจสอบทุจริตยาอื้อฉาวในกระทรวงสาธารณสุข

3) ประท้วงอำนาจรัฐและเรียกร้องให้ถ่ายโอนอำนาจที่รัฐเคยมีมาเป็นของประชาชน เช่น กรณีร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชน, การต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินที่บ่อนอก-หินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์, การคัดค้านโครงการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ของประชาชน อ.จะนะ จ.สงขลา, การประท้วงนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ฯลฯ

4) ร่วมมือเชิงวิพากษ์(critical co-operation) หรือเกี่ยวข้องอย่างสร้างสรรค์(costructive engagement)กับรัฐ เพื่อเบียดแย่งพื้นที่ในกระบวนการใช้อำนาจมาเป็นของประชาสัมคม เช่น แนวทางการเคลื่อนไหวสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของหมอประเวศ วะสี เป็นต้น

นับว่าการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนในทิศทางที่ 3) กล่าวคือ "ประท้วงอำนาจรัฐและเรียกร้องให้ถ่ายโอนอำนาจที่รัฐเคยมีมาเป็นของประชาชน" สอดคล้องกับแนวทางถ่ายโอนอำนาจของรัฐไปสู่สังคมมากที่สุด อีกทั้งเป็นการช่วงชิงฐานะได้เปรียบเสียเปรียบกับพลังตลาด/ทุนด้วย จึงอาจถือได้ว่าเป็นแม่แบบ(model)ของการเมืองภาคประชาชนทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา