เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

พลิกตำนาน-เบื้องลึก รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

จุดกำเนิด "คณะราษฎร"

เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 ภายในร้านกาแฟเล็กๆ ราคาถูกๆ ที่ชื่อ "Select" ซึ่งเป็นห้องแถวแห่งหนึ่งในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ภายใต้การวางแผนด้วยมันสมองของนักเรียนไทย 7 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมี "ปรีดี พนมยงค์" และ "ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ" นักเรียนนายทหารปืนใหญ่เวลานั้น หรือ "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" จนสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยสำเร็จเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ประชาธิปไตย ล่วงเลยมากว่า 79 ปี ใน พ.ศ.2554 และยังเป็น 111 ปี แห่งการชาติกาลรัฐบุรุษอาวุโส อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 และอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 7 ด้วย

กระนั้นผู้ที่น่าถ่ายทอดความเป็นตัวตน "ปรีดี" ได้ดีที่สุดและยังมีลมหายใจอยู่ในห้วงเวลานี้ คงเป็นใครอื่นไม่ได้หากไม่ใช่ "ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล" ทายาทลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 6 คนของ "ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์"

"คน เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกทางเดินชีวิตของตนเองได้ แม่โชคดีอย่างยิ่งที่เกิดเป็นลูกปรีดี-พูนศุข ผู้อุทิศตนรับใช้ชาติและราษฎรไทยอย่างซื่อสัตย์สุจริตตลอดอายุขัย"

คือบันทึกในเกริ่นนำของหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊กล่าสุด "แม่อยากเล่า...ชีวิต 72 ปีที่ผ่านเลย" ของ "ดุษฎี" ระบุถึงผู้วางรากฐานประชาธิปไตยไทย

"ดุษฎี" ย้อนภาพที่จำติดตาได้แม่นยำในวัยเด็กซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเวลานั้นเธอและครอบครัวได้อยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง ซึ่งเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

"ตอนนั้น คุณพ่อเริ่มที่จะคบคิดกับผู้รักชาติทั้งหลายโดยตั้งขบวนการเสรีไทย ซึ่งคุณพ่อบอกว่าเป็นขบวนการที่รับใช้ชาติไม่ใช่กู้ชาติ ความหมายต่างกันนะ เพราะคุณพ่อชอบใช้คำว่ารับใช้ชาติรับใช้ราชการ"

สงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปี 2485 รัฐบาลไทยที่มี "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมสงครามกับ "ญี่ปุ่น" ซึ่งเป็นฝ่ายอักษะ โดยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส

แต่ "ปรีดี" ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เดินเกมต่อต้านการรุกรานสยามของญี่ปุ่นอย่างลับๆ ในรูปแบบขบวนการเสรีไทย

"หัว หน้าขบวนการเสรีไทย คือนายปรีดี พนมยงค์ ที่ใช้ชื่อรหัสว่า รู้ธ (Ruth) ที่แปลว่าความจริง ขบวนการเสรีไทยเป็นขบวนการรับใช้ชาติที่ลับสุดยอด สมัยนั้นคุณพ่อมาเล่าทีหลังว่าสมมุติสามีเป็นเสรีไทย ภรรยาก็ไม่อาจทราบได้เพราะจะไม่บอกกัน เนื่องจากถ้ารู้ถึงหูญี่ปุ่นก็ตายลูกเดียว"

ภายใต้กุศโลบายอันเฉียบขาด "ปรีดี" ในขณะนั้นซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้หลีกเลี่ยงการร่วมลงนามประกาศสงคราม จึงทำให้เวลาต่อมาประเทศไทยจึงรอดพ้นการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม

กระทั่งเหตุการณ์ที่ "ดุษฎี" ต้องจดจำไปจนชั่วชีวิตได้เกิดขึ้นเมื่อเกือบรุ่งสางของวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490

เมื่อคณะทหารภายใต้การนำของ "พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ" ยศขณะนั้นได้รัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกฯ คนที่ 8

"วัน นั้นเวลาตี 3 ตื่นมาได้ยินเสียงปืนเหมือนหนังสงครามเสียงปืนรัวดังมาก ห้องนอนอยู่คนละปีกของตึก คุณแม่ (ท่านผู้หญิง พูนศุข) ก็ตะโกนสวนเสียงปืนว่าอย่ายิงมีแต่เด็กและผู้หญิง และพี่ชายปาล พนมยงค์ ซึ่งเสียชีวิตแล้วก็บอกว่าให้น้องๆ หมอบลงกับพื้น ซึ่งก็พยายามจะป้องกันน้องๆ"

เหตุการณ์ครานั้นทำให้ "ดุษฎี" และครอบครัวต้องตื่นเช้าขึ้นมาพบกับคณะรัฐประหาร ซึ่งนำโดย "ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ" ยศขณะนั้นที่นำกำลังทหารพร้อมรถถังบุกเข้ามาก็บุกมาประตูหน้าทำเนียบท่าช้าง เพื่อพยายามที่จะค้นบ้านโดยพลการ จึงทำให้รู้ว่าได้มีการรัฐประหารเกิดขึ้น

"ตอน นั้นคุณแม่ถามว่าเมื่อคุณไม่ไว้ใจเรา เราก็มีสิทธิไม่ไว้ใจคุณ คุณจะเข้าตรวจโดยพลการได้อย่างไร เพราะคุณอาจเล่นไม่ซื่อนำสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาซุกซ่อนในบ้าน และตั้งข้อหากับเราได้"

แต่ "ร.อ.ชาติชาย" คงต้องจำยอมค้นบ้านต่อโดยมีคนในบ้านดูไม่คลาดสายตา

"คุณ แม่ก็ถามกับคณะทหารชุดนี้ว่าพวกคุณมาทำอะไร แต่ทหารตอบกลับมาว่าเราจะมาเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้คุณแม่ตอบกลับไปว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลทำไมไม่เปลี่ยนที่รัฐสภา มาเปลี่ยนทำไมที่บ้านนี้ คือการใช้กำลังมายึดรัฐบาลคุณแม่ก็มองว่าไม่ถูกต้อง"

เวลาต่อมาจึงทราบว่าระหว่างนั้น "ปรีดี" ได้ลงเรือจ้างลี้ภัยไปเพียงเสี้ยววินาทีก่อนขบวนรถถังจะบุกมายังทำเนียบท่าช้าง

และทำให้ครอบครัวของรัฐบุรุษอาวุโสต้องระหกระเหินไปอาศัยอยู่บ้านคุณยายของ "ดุษฎี" ที่บ้านป้อมเพชร์ถนนสีลม

"สิ่ง ที่อยากจะย้ำกรณีพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ที่มีข่าว "ปรีดี" หลบหนีหลังสวรรคตนั้นไม่ใช่ แต่คุณพ่ออยู่ในไทยนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 จนถึง 8 พฤศจิกายน 2490 ก่อนลงเรือจ้างลี้ภัยเป็นเวลา 1 ปีเกือบ 6 เดือนหรือ 516 วัน"

ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล
"ดุษฎี" เริ่มน้ำตาคลอเมื่อต้องพูดถึงความรู้สึกของผู้เป็นพ่อหลังเกิดกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ว่า

"ทุก คนชอบถาม แต่คุณพ่อไม่เคยบอกอะไรกับลูกหรือแม้แต่คุณแม่ คุณพ่อเคยพูดกับนักเรียนไทยในอังกฤษบอกว่าประวัติศาสตร์เมื่อถึงเวลาแล้ว ประวัติศาสตร์จะบอกเองว่าได้เกิดอะไร นี่คุณพ่อพูดแค่นี้ คุณพ่อมีความดีอยู่อย่างคือไม่เคยใส่ร้ายใคร คุณพ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์สังคมและเป็นคนไม่พูดเรื่อยเปื่อยโดยไม่มีหลักฐาน ยืนยันไม่ใส่ร้ายใคร"

"รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี" มีแนวคิดจะกลับมาเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2492 แต่ไม่สำเร็จเพราะถูกทางการปราบทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกเรียกว่า "กบฏวังหลวง"

"คุณ พ่อถูกหมายจับค่าตัว 1 แสนบาทต้องลี้ภัยทางการเมืองอีกครั้งลงเรือประมงเล็กๆ ออกอ่าวไทยปรากฏว่าด่านทางการไทยตั้งอยู่ที่ป้อมพระจุลฯ คุณพ่อก็ลงเรือประมงปลอมตัวเป็นชาวบ้านธรรมดา ด่านจะปิดประมาณสองยาม ถ้าไปเลยสองยามก็ไปไหนไม่ได้ ปรากฏว่าคุณพ่อเล่าทีหลังว่าเรือประมงผ่านช่วงเวลาที่เลยสองยามไปแล้ว แต่บังเอิญนาฬิกาที่ป้อมนั้นเดินช้าไป 5 นาที จึงคลาดแคล้วไปอย่างเฉียดฉิว"

การลี้ภัยครั้งนี้ทำให้ "ปรีดี" ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศจีนนับแต่นั้นเป็นต้นมาเป็นเวลา 21 ปีก่อนจะลี้ภัยต่อไปที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2513

"ตั้งแต่ 8 พฤศจิกายน 2490 ครอบครัวเราได้พบคุณพ่อเมื่อเดือนธันวาคม 2496 พบที่เมืองจีนตอนแรกคุณแม่ไม่รู้คุณพ่ออยู่ไหน คุณแม่เล่าให้ฟังว่าวันหนึ่งได้รับจดหมายจากโรมาเนีย คุณพ่อไม่ได้เขียนชื่อปรีดี แต่คุณพ่อใช้คำ ปรีดีว่า "เฟรดิก" และบอกว่าตอนนี้อยู่ประเทศจีนแล้วให้เดินทางไปหา"

กระทั่ง พ.ศ.2500 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร จอม พล.ป.จึงต้องลี้ภัยการเมืองไปพำนักที่ญี่ปุ่น

แม้ในอดีตทั้ง "จอมพล ป." และ "รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี" จะห้ำหั่นขัดแย้งช่วงชิงอำนาจทางการเมือง แต่ในโลกการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

ดุษฎีเล่าว่า "เมื่อ จอมพล ป. ถูกรัฐประหารและได้ไปอยู่ประเทศญี่ปุ่นได้เขียนจดหมายเป็นการ์ดแข็งถึงปรีดี แต่เสียดายมากที่ตอนนี้ได้หายไปแล้วตอนที่จะย้ายจากจีนไปฝรั่งเศส โดยเขียนว่า ได้โปรด อโหสิกรรม"

"จอมพล ป.กับคุณพ่อนั้นเป็นเพื่อนร่วมดื่มน้ำสาบานกันเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จึงทำให้ความผูกพันทั้งคู่ก็ยังมีอยู่"

ถามว่า "ปรีดี" เคยมีแนวคิดจะกลับมาเมืองไทยเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยอีกหรือไม่นั้น

ทายาทผู้นำคณะราษฎรส่ายหน้าก่อนตอบว่า "คุณ พ่อก็คงเห็นว่าเป็นการยากเพราะประเทศไทยอยู่ได้ต้องมีกำลังทหารอย่างแข็งแรง ดังนั้น คุณพ่อจึงมุ่งให้ความรู้เขียนหนังสือให้ความรู้ประชาธิปไตย"

ยิ่งหากให้สรุปถึงเหตุการณ์ที่ "รัฐบุรุษอาวุโส" เคยเสียใจที่สุดนั้น

"ดุษฎี" พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า "คุณพ่อไม่ได้พูด...แต่พวกเราพูด แต่ละไว้จุด จุด จุด บอกแล้วว่าไม่พูดย้อนหลังพูดแต่ข้างหน้า"

11 พฤษภาคม 2526 ด้วยวัย 83 ปี เส้นทางชีวิต "รัฐบุรุษอาวุโส" ก็ต้องปิดฉากลงที่ประเทศฝรั่งเศส ที่เป็นจุดริเริ่มอภิวัฒน์การปกครองไทย

"คุณ พ่อไม่ได้มีอาการป่วยมาก่อนตื่นเช้ามาวันนั้นอาบน้ำโกนหนวดเรียบร้อยนั่งที่ โต๊ะตอนเที่ยงวางปากกาถอดแว่นตาแล้วก็สิ้นใจ เพราะเป็นการตายที่ฝรั่งบอกว่าแบบสวยงาม เขียนหนังสือจะเบิกเงินธนาคาร หมอวินิจฉัยว่าหัวใจวายเฉียบพลัน"

แม้จะสิ้นลมหายใจอย่างสงบนิ่งแต่ข้างกายในเสื้อสูทที่ "ปรีดี" สวมใส่ ได้พกหนังสือ "ธรรมะคู่ชีวิต" ที่พุทธทาสภิกขุส่งมาให้ยังปารีส เก็บติดตัวไว้อยู่ตลอด

โดยหลักธรรมที่ "รัฐบุรุษอาวุโส" ยึดถือคือ "สิ่งที่ก่อสร้างเอาไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม"

ทั้งนี้ หากจะให้พูดถึงมรดกที่ "ปรีดี" ทิ้งไว้นับแต่ พ.ศ.2475 แล้ว "ดุษฎี" ตอบทันทีว่า "ระบอบรัฐสภา"

และสิ่งที่ "บิดาบังเกิดเกล้า" ภูมิใจที่สุดในชีวิตนั้น "บุตรสาว" ในวัย 72 ปีวันนี้เห็นว่ามี 2 เรื่องคือ

1.การ เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ 2.ร่วมขบวนการเสรีไทย

"แต่ น่าเสียดายทุกวันนี้ทะเลาะกันในสภา คนที่นั่งในสภาอาจไม่ทราบและไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์รัฐสภาไทยเพราะมัวแต่ แย่งชิงผลประโยชน์ทางการเมือง" เป็นบทสรุปที่ออกจากคำพูดตัวตายตัวแทน "รัฐบุรุษอาวุโส" ต้นกำเนิดประชาธิปไตยใน พ.ศ.นี้

ที่มา : มติชน
คอลัมน์ ข้างหลังเซียน หน้าการเมือง หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 20 มีนาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา